เขตการค้าเสรีอาเซียน : AFTA
จากกำเนิด ASEAN ก่อเกิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(ASEAN Free Trade Area) หรือ เรียกย่อว่า AFTA เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2536 โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของประเทศสมาชิก เพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศสมาชิกในการเจรจาระหว่างประเทศ ดึงดูดการลงทุน และเพื่อลดภาษีศุลกากรในกลุ่มสมาชิกให้เหลือน้อยที่สุดและเป็น 0 % ในปีที่กำหนดกล่าวคือ ประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2553 และสมาชิกที่เหลืออีก 4 ประเทศคือ เวียตนาม พม่า ลาว และกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2558
ความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก คือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อกัน นั่นคือ
การลดหย่อนภาษีขาเข้าจากภาษีนำเข้าปกติที่เคยเรียกเก็บ โดยกำหนดเวลาไว้สำหรับสมาชิกกลุ่มแรก 6 ประเทศ ในปี พ.ศ. 2553 ภาษีนำเข้าเป็น 0% และในปี พ.ศ. 2558 สำหรับสมาชิกที่เหลืออีก 4 ประเทศ ซึ่งนอกจากภาษีนำเข้าแล้ว ก็ได้มีการกำหนดให้มีการยกเลิกการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี นั่นคือ ในหมู่สมาชิกต้องไม่จำกัดการนำเข้าสินค้าและบริการระหว่างกัน และยังรวมถึงการกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบของสินค้าที่ได้รับสิทธิจากการลดภาษีนั้นต้องมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของการผลิตสินค้านั้นๆ
จาก ASEAN สู่เขตการค้าเสรี AFTA ส่งผลกระทบต่อ SMEs ของไทย กล่าวคือ ในด้านภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก นั่นคือ ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2553 และในปี พ.ศ. 2558 ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ในการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป ส่งผลให้มีความได้เปรียบด้านราคาและคุณภาพ การเกิดฐานการผลิตร่วมกันนั่นคือ ประเทศสมาชิกสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศสมาชิกที่เหมาะเป็นแหล่งผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง วัตถุดิบนำเข้ามีราคาลดลง สินค้าที่ผลิตจะเกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้า ผู้บริโภคได้รับสินค้าดีมีคุณภาพ ทำให้สินค้าด้อยคุณภาพจะขายไม่ได้ เป็นการสร้างการได้เปรียบในการแข่งขันโดยใช้จุดเด่นของแต่ละประเทศ ไม่มีการกีดกันสินค้าทำให้ตลาดกว้างขึ้น การส่งออกง่ายขึ้น ตลาดใหญ่ขึ้นจากแต่ละประเทศ สู่กลุ่ม 10 ประเทศ ซึ่งประชากรรวมเกือบ 600 ล้านคน เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรอาเซียน GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.sme.go.th/Lists/EditorInput/DispF.aspx?List=15dca7fb-bf2e-464e-97e5-440321040570&ID=1601